การวินิจฉัย โรคมะเร็งผิวหนัง
การตรวจเบื้องต้นด้วยตนเอง
การวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังด้วยตัวเองสามารถทำได้ด้วยการสังเกตความผิดปกติของผิวหนัง หากมีตุ่มเนื้อที่ดูผิดปกติ หรือมีแผลเรื้อรังบริเวณผิวหนังที่มักจะโดนแดดบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจให้ชัดเจนการวินิจฉัยโดยแพทย์
แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากภายนอกด้วยการสังเกตความผิดปกติของผิวหนังอีกครั้ง หากบริเวณที่ผิดปกตินั้นมีความน่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อนำตัวอย่างผิวหนังบริเวณที่ต้องสงสัยไปทำการตรวจด้วยวิธีทางพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง ทั้งนี้ หากแพทย์พบว่าตัวอย่างผิวหนังที่ตัดไปตรวจนั้นเป็นเนื้อร้าย แพทย์อาจส่งตรวจเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์ว่ามะเร็งผิวหนังที่เป็นนั้นอยู่ในระยะใด ทั้งนี้ในการแบ่งระยะของโรคมะเร็งผิวหนังจะคล้ายคลึงกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ซึ่งจะมีการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยแพทย์จะทำการวิเคราะห์ขนาดของก้อนเนื้อมะเร็ง และตรวจวินิจฉัยว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น ๆ หรือไม่ แล้วจึงจะระบุได้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งในระยะใดนอกจากระยะของมะเร็งที่กล่าวไปข้างต้น ก็ยังมีอาการทางผิวหนังบางอย่างที่หากตรวจพบแล้ว แพทย์อาจจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในระยะก่อนมะเร็ง (Precancer) และต้องทำการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาการเหล่านี้มีความเสี่ยงที่อาจกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ โดยอาการทางผิวหนังที่ควรระมัดระวังมีดังนี้
- เกิดแผลตกสะเก็ดจากการโดนแสงแดดติดต่อกันบ่อย ๆ เป็นเวลานาน
- ตุ่มนูน ที่มีลักษณะหนาแข็ง โดยผิวหนังบริเวณฐานของตุ่มจะแดง
- มีแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย
- มีไฝหรือขี้แมลงวันรูปร่างผิดปกติ มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ขยายขนาดเร็ว หรือมีสีที่แตกต่างจากทั่วไป