อาการคันช่องคลอด หรือคันบริเวณ ปากช่องคลอด อาจทำให้สาว ๆ หลายคนเกิดความรำคาญและรู้สึกหงุดหงิด ซึ่งสาเหตุของอาการคันบริเวณจุดซ่อนเร้นนั้น อาจเกิดจากการสวมใส่กางเกงในที่รัดเกินไป หรือปัญหาสุขภาพร้ายแรงอย่างโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น หากมีอาการคันช่องคลอดเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
คันช่องคลอด เกิดจากอะไร ?
อาการคันช่องคลอดอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังต่อไปนี้
ปัญหาสุขภาพ
- วัยทอง ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนจะมีระดับของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนลดลง ทำให้เมือกที่เคลือบช่องคลอดบางลง ส่งผลให้ช่องคลอดแห้งจนอาจทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองได้
- โรคผิวหนัง โรคผิวหนังบางชนิดอาจทำให้ผิวบริเวณจุดซ่อนเร้นเกิดอาการคันและแดง เช่น โรคผิวหนังอักเสบที่มักเกิดกับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือโรคหืด โดยอาจมีผื่นแดงคันหรือตกสะเก็ด และอาการอาจลุกลามไปยังช่องคลอด หรือโรคสะเก็ดเงินที่มักทำให้ผิวหนังตกสะเก็ด มีอาการคันหรือแดงบริเวณหนังศีรษะและตามข้อพับต่าง ๆ เป็นต้น
- ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นภาวะที่เกิดจากความไม่สมดุลกันของแบคทีเรียชนิดที่ดีและไม่ดีซึ่งอยู่ภายในช่องคลอด โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ คันบริเวณช่องคลอด ตกขาวมีกลิ่นเหม็น อาจมีลักษณะบาง เป็นสีขาว เทาขุ่น หรือเป็นฟอง
- การติดเชื้อรา เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง โดยเกิดจากการเพิ่มจำนวนของเชื้อราในช่องคลอดที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการคัน รู้สึกแสบร้อน และอาจมีตกขาวลักษณะเป็นก้อนไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน เพราะยาดังกล่าวจะทำลายแบคทีเรียชนิดที่ดีที่ช่วยควบคุมจำนวนของเชื้อราในช่องคลอด
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันอาจเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เช่น การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) หนองในแท้ หนองในเทียม หูด หรือเริมที่อวัยวะเพศ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคันช่องคลอด และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตกขาวมีสีเหลืองหรือสีเขียว รู้สึกปวดแสบขณะปัสสาวะ เป็นต้น
- มะเร็งปากช่องคลอด อาการคันช่องคลอดอาจเป็นสัญญาณของ มะเร็งปากช่องคลอด ได้ ซึ่งบางรายอาจไม่ปรากฏอาการใด ๆ เลย แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยโรคมะเร็งปากช่องคลอดอาจมีอาการคันช่องคลอด มีเลือดออก และรู้สึกเจ็บบริเวณปากช่องคลอด อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ขณะที่มะเร็งยังไม่ลุกลาม ก็อาจรักษาให้หายขาดได้
พฤติกรรมการใช้ชีวิต
- การโกนขนบริเวณจุดซ่อนเร้น การกำจัดขนด้วยวิธีการโกนบริเวณจุดซ้อนเร้นอาจทำให้รู้สึกคันเมื่อขนเริ่มงอกใหม่อีกครั้ง โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาปัญหาจากการกำจัดขนบริเวณอวัยวะเพศพบว่า ผู้หญิงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกคันอย่างรุนแรงหลังจากการโกนขนออก ทั้งนี้ อาจใช้วิธีกำจัดขนด้วยการเล็มหรือแวกซ์ขนแทน เพื่อป้องกันอาการคันบริเวณช่องคลอด
- การใช้สารเคมี สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอาจทำให้ช่องคลอดเกิดการระคายเคืองจนส่งผลให้คันบริเวณช่องคลอดได้ เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น หรือกระดาษชำระ เป็นต้น
- ความเครียด แม้ว่าจะเป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย แต่ภาวะเครียดอาจทำให้เกิดอาการคันหรือระคายเคืองบริเวณช่องคลอดได้เช่นกัน เนื่องจากความเครียดอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อและอาการคันได้ง่ายขึ้น
- การทำกิจกรรรมต่าง ๆ กิจกรรมบางอย่างก็อาจทำให้เกิดอาการคันช่องคลอดได้ เช่น ปั่นจักรยาน ขี่ม้า หรือสวมใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่รัดเกินไป เป็นต้น
บรรเทาอาการคันช่องคลอดด้วยตัวเองอย่างไร ?
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและดูแลสุขอนามัยของตนให้ดีอาจช่วยป้องกันและบรรเทาอาการคันช่องคลอดได้ ดังนี้
- ล้างจุดซ่อนเร้นด้วยน้ำอุ่นและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว แต่ไม่ควรล้างมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน เพราะอาจทำให้ช่องคลอดแห้ง
- เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกหลังว่ายน้ำหรือออกกำลังกายทันที
- รับประทานโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์มีชีวิต เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อราในช่องคลอด
- เลือกใส่ชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย และเปลี่ยนชุดชั้นในทุกวัน
- เช็ดทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระจากด้านหน้าไปหลังเท่านั้น
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หากช่องคลอดแห้ง ควรใช้เจลหล่อลื่นก่อนมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการคันช่องคลอดจะดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัย กระดาษชำระ สบู่ ครีมบำรุงผิว หรือโฟมอาบน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น เช่น สเปรย์ หรืออุปกรณ์สวนล้างช่องคลอด เป็นต้น
- ห้ามเกาผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้น เพราะอาจทำให้การระคายเคืองรุนแรงขึ้น
อาการแบบใดที่ควรไปพบแพทย์ ?
แม้ว่าอาการคันช่องคลอดจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่หากมีอาการต่อไปนี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- มีแผลบริเวณช่องคลอด
- มีปัญหาในการปัสสาวะ
- มีตกขาวลักษณะผิดปกติออกมาจากช่องคลอด
- มีอาการบวมหรือแดงบริเวณจุดซ่อนเร้น
- รู้สึกเจ็บหรือคัดตึงบริเวณจุดซ่อนเร้น
- รู้สึกไม่สบายตัวขณะมีเพศสัมพันธ์
อาการของภาวะเชื้อราในช่องคลอด
อาการของภาวะติดเชื้อราในช่องคลอดมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง บางคนอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ถึงแม้จะติดเชื้อก็ตาม อาการที่พบได้มีดังนี้
คันและระคายเคืองบริเวณช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด
มีอาการบวมบริเวณอวัยวะเพศ
รู้สึกแสบร้อนขณะมีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ
มีผื่นแดงบริเวณอวัยวะเพศ
มีตกขาวเป็นสีขาวครีมข้น ไม่มีกลิ่น บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นน้ำได้เช่นกัน
ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะติดเชื้อราที่ซ้ำซ้อนหากมีอาการดังต่อไปนี้
มีอาการบวม แดงคันที่รุนแรงจนทำให้เกิดแผลและเจ็บปวดบริเวณช่องคลอด
มีการติดเชื้อรา 4 ครั้งหรือมากกว่าต่อปี
ติดเชื้อราสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ Candida Albicans
กำลังตั้งครรภ์
เป็นโรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุม
มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำเพราะโรคบางชนิด เช่น ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
มีภาวะติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นครั้งแรก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคอื่นที่ร้ายแรงกว่านั้นและต้องใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างออกไป เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หรือโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะซื้อยามารักษาเอง
ติดเชื้อราในช่องคลอด 4 ครั้งหรือมากกว่าต่อปี แพทย์อาจต้องให้ยาต้านเชื้อรานานอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค นอกจากนี้การติดเชื้อราบ่อยครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆ ได้
การวินิจฉัยภาวะเชื้อราในช่องคลอด อาการคันช่องคลอด
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติผู้ป่วย เช่น เคยมีประวัติเกิดการติดเชื้อราหรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่ ตรวจภายในและตรวจดูความผิดปกติของลักษณะภายนอก หลังจากนั้นแพทย์จะเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากช่องคลอดเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
สาเหตุเกิดจากอะไร
การติดเชื้อราในช่องคลอดเกิดจากอะไร
การใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งทำลายเชื้อแบคทีเรียดีในช่องคลอด ทำให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น จากการตั้งครรภ์ การรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงหรือการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด
โรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุม ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมีความเสี่ยงในการติดเชื้อราในช่องคลอดมากขึ้น
ระบบภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้รับการบำบัดด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
ป้องกันได้อย่างไร
การปฏิบัติตัวตามหลักสุขอนามัยช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราในช่องคลอดได้
-
รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สมดุล
-
รับประทานโยเกิร์ตหรืออาหารเสริมที่มีแลคโตบาซิลลัส ซึ่งช่วยรักษาสมดุลของความเป็นกรดด่างในช่องคลอด
-
สวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินินหรือผ้าไหม รวมถึงสวมกางเกงและกางเกงชั้นในที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป
-
หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะเป็นการนำเชื้อแบคทีเรียดีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อออกจากร่างกาย
-
ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น
-
ไม่สวมใส่เสื้อผ้าเปียกชื้นเป็นเวลานาน เช่น ชุดว่ายน้ำหรือชุดออกกำลัง
-
ไม่ใช้แผ่นอนามัยและเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างสม่ำเสมอขณะมีประจำเดือน เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้น